สุขภาพ

“การนอน” 8 ชั่วโมง ดีต่อสุขภาพจริงหรือ?

เราทุกคนมีเวลาเท่ากันคือ 24 ชั่วโมงต่อวัน และแบ่งเวลาออกเป็น 3 ส่วน ๆ ละเท่า ๆ กันคือ 8 ชั่วโมง

8 ชั่วโมงที่ 1 เราอุทิศให้กับการทำงาน โดยมาตรฐานการทำงานของแต่ละประเทศส่วนใหญ่อยู่ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน

8 ชั่วโมงที่ 2 เป็นเวลาของการใช้ชีวิตประจำวัน ทำกิจวัตรส่วนตัวซึ่งต้องทำทุกวันไม่ว่าจะเป็น งานบ้าน กิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ รวมไปถึงเวลาที่เราใช้เดินทางไปทำงาน

8 ชั่วโมงสุดท้ายนั่นคือการนอน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อร่างกายมาก ๆ เพราะร่างกายของเราจะซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้ในขณะที่เรานอนหลับ ดังนั้นการนอนจึงเป็นผลดีต่อร่างกายทำให้เกิดความเชื่อที่ว่ายิ่งนอนมากก็ยิ่งเป็นผลดีต่อร่างกายมาก ความเชื่อนี้เป็นจริงหรือไม่?

ประวัติศาสตร์สอนเรื่องการนอนมากเกินไป

ในช่วงศตวรรษที่ 18 มีการรักษาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา คิดค้นโดยคุณหมอชื่อ Dr. Silas Weir Mitchell การรักษานี้มีชื่อว่า Rest Cure (การนอนพัก) วิธีรักษาคือบังคับให้ผู้ป่วยนอนอยู่บนเตียง ห้ามขยับร่างกาย แม้กระทั่งเวลาทานอาหารหรือขับถ่าย ก็ต้องให้พยาบาลทำให้ทุกอย่าง ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและอาการของพวกเธอไม่ดีขึ้นแต่กลับแย่ลง หลายคนเกิดอาการแทรกซ้อนจากการที่ร่างกายไม่ได้ขยับเป็นเวลานาน เช่น แขนขาอ่อนแรงและแผลกดทับ นอกจากนี้ยังมีอาการแทรกซ้อนทางจิต เช่น วิตกจริต คิดฟุ้งซ่าน และพัฒนาไปถึงการเป็นโรคซึมเศร้าจนอยากฆ่าตัวตาย

ผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรักษาแบบ Rest Cure ทำให้ผู้หญิงในสมัยนั้นมองเห็นความไม่เท่าเทียม เพราะหลายคนถูกบังคับให้อยู่เฉย ๆ เพื่ออ้างว่ารักษาอาการป่วย จนพวกเธอตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตัวเองที่มีต่อครอบครัวและสังคม ทำให้เกิดการปลดแอกของผู้หญิงในชนชั้นสูงดังเช่นเหตุการณ์ของ Charlotte Perkins Gilman เธอคือผู้หญิงอเมริกันที่ถูกบังคับให้รับการรักษาแบบนี้ จนทำให้เธอมีอาการสติวิปลาส มองเห็นกำแพงห้องเป็นคุกคุมขัง หลังจากการรักษาเธอได้นำเรื่องราวความทุกข์ของเธอมาตีแผ่เป็นวรรณกรรมอันมีชื่อเสียงโด่งดัง เรื่อง The Yellow Wallpaper แต่การมีชื่อเสียงก็ไม่ได้ทำให้เธอหายขาดจากอาการทางจิต ที่ติดมาจากการรักษาแบบ Rest Cure จนในที่สุดเธอต้องกินยาฆ่าตัวตาย

ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มนุษย์สามารถเรียนรู้นวัตกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงความผิดพลาดที่คนรุ่นก่อนได้ผ่านมาแล้ว และบันทึกไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นบทเรียน ดังนั้นจึงไม่ควรมองข้ามสิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เราอาจมองว่าความเชื่อเรื่องการนอนพักผ่อนมาก ๆ นั้นดีต่อสุขภาพ แต่การนอนมากเกินไปก็เป็นผลร้ายได้เหมือนกันดังเรื่องราวในประวัติศาสตร์ข้างต้น

พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่มากและไม่น้อยเกินไป

ดูเหมือนว่าการนอนในระดับที่พอดีนั้นดีที่สุด เพราะการนอนน้อยเกินไปก็เป็นผลเสียต่อร่างกาย ดังที่รู้กันว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอทำให้ระบบร่างกายแปรปรวน และไม่มีประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนการนอนมากเกินไปก็มีผลกระทบต่อร่างกายเช่นกัน คือ จะกลายเป็นคนเชื่องช้าเพราะสมองเฉื่อยชา กระดูกพรุนได้ง่ายเพราะขยับตัวน้อยลงส่งผลให้เป็นโรคอ้วนและยังเป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความดันโลหิต โรคหัวใจ และเบาหวาน อารมณ์แปรปรวนง่ายจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งในปี 2012 ได้มีการศึกษากลุ่มคนที่นอนมากกว่าวันละ 9 ชั่วโมง และน้อยกว่าวันละ 5 ชั่วโมง ผลคือสมองของพวกเขาทำงานแย่ลงในระยะเวลา 2 ปี

ดังนั้นการนอนพักผ่อนวันละ 7-8 ชั่วโมง จึงจะเรียกได้ว่าเป็นการนอนที่เพียงพอ ไม่มากเกินไปจนสมองเสื่อมและไม่น้อยเกินไปจนระบบร่างกายแปรปรวน จะเห็นว่าการยึดหลักการเดินทางสายกลางนั้นจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดซึ่งสามารถนำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้จริงและมักจะส่งผลไปในทางบวกเสมอ

 

Tagged , ,