สังคม

ไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ สถิติเด็กเกิดใหม่น้อยลง

                ปัจจุบันสังคมไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่าสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา 1 ใน 10 ของประชากรไทยเป็นประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และคาดว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 และ ก้าวเข้าสู่สังคมวัยสูงอายุในระดับสุดยอด ซึ่งหมายความว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบในสังคมหลายประการ

ปัญหาของสังคมผู้สูงอายุ

                การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้เกิดปัญหาที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากประชากรวัยแรงงานลดน้อยลง ส่งผลให้โครงสร้างทางด้านประชากรเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเมื่อประเทศขาดประชากรในวัยแรงงาน นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นผลกระทบที่สำคัญต่อกำลังการผลิต ทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ของประเทศไทยชะลอตัว ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าจะทำให้ GDP ของประเทศชะลอตัวลงอย่างน้อยร้อยละ 1 ต่อปี

นอกจากการโครงสร้างของประชากรเปลี่ยนไปแล้ว ผู้สูงอายุในกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ยังต้องการความช่วยเหลือและสวัสดิการจากภาครัฐ ในการเข้ามาช่วยดูและคุณภาพการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัย การรักษาพยาบาล รวมถึงสวัสดิการเบี้ยยังชีพต่าง ๆ จากภาครัฐ ที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือ และการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาและการดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้

เด็กเกิดใหม่น้อยลง                

                นอกจากผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว จำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยก็ยังมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลทางด้านโครงสร้างครอบครัวที่เป็นแบบพ่อแม่ลูก และนิยมมีลูกกันเพียง 1-2 คน รวมถึงแนวโน้มการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น มีอัตราการแต่งงานลดลง ทำให้แนวโน้มโครงสร้างทางประชากรของสังคมไทย จะเป็นสังคมที่มีเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ

จากสถิติเด็กเกิดใหม่ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2493 – 2599 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ไม่ถึงปีละ 1 ล้านคน ต่างกับในอดีตตั้งแต่ทศวรรษ 2490 – 2500 ที่มีจำนวนเด็กแรกเกิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องนี้จึงถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในระดับประเทศ และต้องมีการวางแผนโครงสร้างประชากรเสียใหม่ รวมไปถึงการวางแผนครอบครัวในอนาคต ที่สามารถถือเป็นวาระแห่งชาติได้เลยทีเดียว

                สังคมไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อมีผู้สูงอายุมากขึ้น และเด็กเกิดใหม่รวมถึงกลุ่มเยาวชนลดน้อยลง เห็นทีทุกภาคส่วนคงจะต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนแนวทางหลาย ๆ ด้าน และที่สำคัญภาครัฐคงจะต้องออกมาตรการ เพื่อช่วยเหลือหรือกระตุ้นให้เกิดความสมดุลในสังคมไทยมากขึ้น

Tagged , ,