เศรษฐกิจ

คนไทยได้อะไรบ้าง จากการเข้าร่วมการประชุม ACMECS

                ACMECS  (Aeyawadee-Chaopraya-Mekong Economic Corporation) คือข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำอิระวะดี-เจ้าพระยา-แม่โขง เป็นข้อตกลงความร่วมมือด้านธุรกิจระหว่างประเทศไทย, พม่า, ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม เป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่สำคัญระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จะมีส่วนสำคัญต่อการส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะเป็นลักษณะความช่วยเหลือทางด้านการสร้างเส้นทางการขนส่งระหว่างชายแดน โดยไทยจะให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ทั้งด้านการเงิน, เงินกู้ผ่อนปรน หรือความช่วยเหลือด้านการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตร

การประชุมระดับผู้นำ ACMECS มีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 ที่เมืองพุกาม สหภาพพม่า ผู้นำประเทศสมาชิกได้ลงนามในปฏิญญาพุกามเพื่อจัดตั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการซึ่งครอบคลุมความร่วมมือ 5 สาขา ได้แก่ การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน การเกษตรและอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงคมนาคม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

สำหรับประเทศไทยเองก็เคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2548 เพื่อติดตามการดำเนินงานที่ผ่านมา และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดแนวทางความร่วมมือต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกได้ลงนามร่วมกันการประชุมระดับผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 2 เพื่อส่งเสริมความร่วมมือให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและสร้างความพร้อมให้แก่ภูมิภาคในอนาคต นอกจากนี้ผู้นำประเทศสมาชิกยังให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคร้ายแรงต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้หวัดนก ด้วยการลงนามร่วมกันในปฏิญญาผู้นำเรื่องการเป็นหุ้นส่วนเพื่อต่อสู้กับโรคไข้หวัดนกและโรคติดต่อร้ายแรงอื่น ๆ โดยประเทศไทยประกาศที่จะจัดสรรงบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนเริ่มต้นสำหรับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ

เจ้าภาพได้อะไรจากการจัดการประชุม

                แน่นอนว่าการจัดการประชุมหนึ่งครั้งจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล เพราะไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ การลงทุนจึงต้องหวังผลเสมอ สำหรับประเทศผู้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนั้นจะได้รับประโยชน์หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการลงทุน เพราะเมื่อการประชุมได้ทำข้อตกลงเพื่อเปิดเส้นทางการลงทุนให้กับนักลงทุนผู้มีความสนใจ ก็เหมือนประตูที่ถูกเปิดเพื่อต้อนรับเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ประเทศ, ด้านการคมนาคม เนื่องจากการทำการค้านั้นจำเป็นจะต้องมีระบบขนส่งที่สะดวกรวดเร็วและทันสมัย จึงทำให้เกิดการร่วมลงทุนเพื่อสร้างเส้นทางในการขนส่งสินค้าให้ได้ครั้งละจำนวนมาก ๆ ทำให้เกิดเส้นทางการคมนาคม เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งที่มากขึ้น เป็นผลให้ขยายเส้นทางการค้าออกไปได้ไกล และอีกด้านที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ ด้านการสร้างอาชีพ เพราะเมื่อมีการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น การแจ้งงานก็จะเพิ่มขึ้นตามลำดับ ลดปัญหาการตกงานของแรงงานในประเทศได้ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย

ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม AMECES ครั้งที่ 8

การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 8 นั้นจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2561 ที่กรุงเทพฯ โดยประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพผู้จัดการประชุมซึ่งมีเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่  เสริมสร้างความเชื่อมโยงการคมนาคมโดยเน้นการเติมเต็มเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ยังขาดหาย ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล และการเชื่อมโยงโครงข่ายด้านพลังงาน, การประสานงานด้านเศรษฐกิจ เน้นการปรับแก้กฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนให้สอดคล้องกัน, การพัฒนาภูมิภาคในลักษณะยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

ถึงแม้ว่าการเป็นเจ้าภาพผู้จัดการประชุมนั้นจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ก็คุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับหลังจากการลงนามระดับผู้นำ เพื่อร่วมกันพัฒนาภูมิภาคในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนของประเทศสมาชิกในอนาคตอันใกล้นี้

 

Tagged , ,